เศรษฐกิจธรรมชาติใหม่ กับการศูนย์เสียธรรมชาติ

เศรษฐกิจธรรมชาติใหม่ กับการศูนย์เสียธรรมชาติ

ในงาน Word Economic Forum 2025 มีรายงานความเสี่ยงหลายด้านที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กำแพงทางภาษีและการค้า ความขัดแย้งขั้นรุนแรงในระดับประเทศ การนำ AI มาใช้ในธุรกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั่วโลก

แต่มีรายงานหนึ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงคือ Nature Risk Rising: Why the Crisis Engulfing Nature Matters for Business and the Economy เพราะท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ก่อตัวมานานก็ได้พอกพูนขึ้นจนปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังกระทบกับการใช้ชีวิตและเศรฐกิจของหลายประเทศเป็นอย่างมาก

 

ภาวะฉุกเฉินทางธรรมชาติ

ทุกธุรกิจมีต้นทุน แต่ต้นทุนหนึ่งที่หลายคนอาจจะลืมคำนวณเข้าไปคือต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (ค.ศ. 1950-2000) ผลผลิตทางเศรฐกิจและอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่เพิ่มขึ้น กลับต้องแลกมาด้วยพื้นที่ธรรมชาติที่หายไปและถูกแทนที่ด้วยเมืองหรือพื้นที่การเกษตร

Earth system science ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก การทำลายป่าชายเลน ป่าพรุ และป่าดิบชื้น เพื่อการเกษตรและการใช้ประโยชน์อื่นๆ มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 13% และจะยิ่งทำให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำลายความสามารถของโลกในการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศได้ลดลง

ปัญหานี้เป็นความเสี่ยงระดับโลกที่ World Economic Forum ระบุในรายงานมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีหลังถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศว่าเป็นความเสี่ยงระดับโลกในระดับกลางถึงระดับสูงในแง่ของผลกระทบและความเป็นไปได้ ในปี 2020 การสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงระดับโลกอย่างครอบคลุมของ GRR ซึ่งดำเนินการในชุมชนธุรกิจ รัฐบาล และภาคประชาสังคมทั่วโลกได้แสดงผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง เป็นครั้งแรกที่ความเสี่ยงระดับโลก 5 อันดับแรกมาจากหมวดหมู่เดียวกัน นั่นคือสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินและจากทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้และการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษจากสารเคมี และสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานสัตว์ประจำถิ่น ท้ายที่สุดแล้ว แรงขับทั้ง 5 นี้เกิดจากการรวมกันของรูปแบบการผลิต และการบริโภคในปัจจุบัน อัตราการเกิดและเสียชีวิตของประชากรที่ลดลง การค้า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และรูปแบบการกำกับดูแลของภาครัฐ

แล้วการสูญเสียธรรมชาติส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร ?

การสูญเสียธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ที่เห็นได้ชัดอย่างเหตุอย่างไฟไหม้ที่แคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พื้นที่ป่าถูกไหม้รวมแล้วกว่า 90,764 ไร่ยังไม่รวมถึงอาคารบ้านเรือนมากกว่า 10,000 หลังที่ถูกเผาจากเปลวไฟซึ่งถือว่าได้สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของนครลอสแอนเจลิส(อ้างอิง) หรือแม้แต่ในไทยเองในช่วงเวลาเดียวกันก็สูญเสียพื้นที่ป่าจากไฟป่า ต่างส่งผลกระทบขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ไฟมอดดับลงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมจะจบลงไปด้วย

เพื่อที่จะให้เข้าใจง่ายเราจะแยกปัญหาเป็นปัญหาที่กระทบโดยตรง และกระทบกับธุรกิจทางอ้อม

 

ผลกระทบโดยตรง (Direct Impacts)

ผลกระทบที่ส่งผลทันทีและสามารถสังเกตเห็นได้โดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ

  1. การขาดแคลนวัตถุดิบจากธรรมชาติ (Resource Scarcity)

วัตถุดิบสำคัญอย่าง น้ำ ไม้ โลหะ และแร่ธาตุหายากลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้งที่ลดผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลง

ตัวอย่าง:

อุตสาหกรรมกาแฟและโกโก้เผชิญกับการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกเนื่องจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากกาแฟชอบสภาพภูมิอากาศที่ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป ไม่ชอบแดด ไม่ชอบพื้นที่น้ำขังแต่ก็ต้องการน้ำและความชื้นในดินพอสมควรซึ่งรวมถึงแร่ธาตุในดินที่ต้องการในปริมาณมาก(อ้างอิง) และเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.2568 ก็ได้มีการปรับราคาขึ้นของกาแฟและโกโก้ ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ ร้านขนมที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มจนต้องไปลดต้นทุนทางอื่นแทนกำลังซื้อที่ลดลงก็จะไปกระทบกับผู้ประกอบการร้านขายส่งอุปกรณ์เบเกอรี่ และบริษัทที่ผลิตวัตถุดิบหรือบรรจุภัณฑ์ไปเป็นทอดๆ เช่นกัน

  1. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภัยธรรมชาติ (Increased Costs from Natural Disasters)

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดพายุ น้ำท่วม และไฟป่าบ่อยขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซ่อมแซมและป้องกันความเสียหาย

  1. ความเสี่ยงด้านกฎหมายและข้อบังคับ (Regulatory & Compliance Risks)

รัฐบาลทั่วโลกกำลังออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า

บริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอาจถูกฟ้องร้องหรือเสียค่าปรับ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น

ตัวอย่าง:

ในช่วงเดือนมกราคม 2568 มีการส่งหนังสือกำชับจาก สอน. (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) แจ้งให้โรงงานน้ำตาลต่างๆ ในสมาคมฯ งดการรับอ้อยเผา (อ้อยไฟไหม้) อย่างเด็ดขาดและ ผบ.ตร.สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่ทำการเผาในที่โล่งหรือก่อให้เกิดไฟและควัน เพื่อลดสาเหตุการก่อฝุ่นละออง

  1. ความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของลูกค้า (Brand & Reputation Damage)

ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำลายธรรมชาติอาจถูกคว่ำบาตรหรือแบนจากตลาด

ตัวอย่าง:

แบรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion ถูกวิจารณ์เรื่องการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย ทำให้ต้องปรับตัวสู่แฟชั่นที่ยั่งยืน บางแบรนด์เป็นเริ่มออกนโยบาย “แฟชั่นที่ยั่งยื่น” แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียงการออกนโยบาย Greenwashing (นโยบายฟอกเขียว) เท่านั้น แบรนด์น้ำดื่มรายใหญ่ถูกกดดันให้ลดการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืนรวมถึงบรรจุภัณฑ์ของเค้าที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะ(อ้างอิง) ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้กระทบกับราคาหุ้นและยอดขายของแบรนด์เช่นกัน หรือแม้ปัญหาระดับรัฐต่อรัฐอย่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ต้องร่วมกันหารือถึงเรื่อง มลพิษข้ามแดน โดยเฉพาะการทำเกษตรในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งพบจุดความร้อนที่เป็นแหล่งกำเนิดของไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งส่วนมากมาจากจากรัฐฉานที่เป็นรัฐที่ทำการเกษตรกรรมมากที่สุดของเมียนมา และเป็นรัฐที่ส่งออกสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มายังประเทศไทย เฉลี่ยปีละกว่า 1.5 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตของไทยไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ และด้วยพื้นที่รอยต่อทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่รัฐฉาน ทุกครั้งที่มีการเพาะปลูกต้องมีการเผาทำลายตอซังเพื่อให้ง่ายต่อการไถกลบ จึงทำให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งไทยที่อยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมายอากาศสะอาด (คาดว่าจะได้รับการพิจารณาช่วงเดือน ก.พ.2568) และหากกฎหมายอากาศสะอาดผ่าน อาจมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากเมียนมา จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายไทยได้ย้ำกับผู้บริหารรัฐฉานว่าทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งเรื่องไฟป่าและการเผาเพื่อการทำการเกษตร(อ้างอิง)

 

ผลกระทบทางอ้อม (Indirect Impacts)

ผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่สะสมเป็นความเสี่ยงระยะยาว

  1. ความเสี่ยงทางการเงินและการลงทุน (Financial & Investment Risks)

นักลงทุนและธนาคารให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, and Governance) มากขึ้น บริษัทที่มีผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติอาจถูกลดอันดับเครดิตหรือสูญเสียแหล่งเงินทุน

ตัวอย่าง:

กองทุนใหญ่ เช่น BlackRock และ Vanguard ลดการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

ธนาคารบางแห่งเริ่มปฏิเสธสินเชื่อสำหรับโครงการที่มีส่วนในการทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ในไทยและหลายประเทศเริ่มมีนโยบายส่งเสริมทั้งเงินทุน และความรู้เกี่ยวกับ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ส่วนในยุโรปมีนโยบายและมาตรการ European Green Deal ที่จะเข้ามาบังคับอ้อมๆ ว่าธุรกิจของคุณต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อย คาร์บอน (ก๊าซเรือนกระจก) ให้น้อยที่สุด

  1. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (Shifting Consumer Preferences)

ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมธุรกิจที่ไม่ปรับตัวอาจเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งที่มีปรับตัวเพื่อความยั่งยืนที่มากกว่า

ตัวอย่าง:

คนรุ่นใหม่เลือกซื้อที่ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือไม่รับถุงเลย หลายคนเลือกที่จะดื่มน้ำจากขวดแทนที่จะใช้หลอด หรือการใช้กระบอกน้ำส่วนตัวแทนการซื้อน้ำเป็นขวดหรือเป็นแก้วแบบใช้แล้วทิ้ง ธุรกิจร้านอาหารที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งงแวดล้อมเพิ่มขึ้น หรือมีนโยบายเตรียมแก้ว หรือกระบอกน้ำมาเองจะได้รับส่วนลดค่าเครื่องดื่ม

  1. ผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานและประสิทธิภาพการทำงาน (Impact on Workforce & Productivity)

มลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนส่งผลให้สุขภาพแรงงานแย่ลง การขาดแคลนน้ำสะอาดและอาหารทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานลดลง

ตัวอย่าง:

ในช่วง 4-5 ปี (ก่อน2568) มานี้ปัญหาฝุ่นในไทยมักวนซ้ำกลับมาทุกปีในช่วงฤดูหนาวของไทย ที่เป็นช่วงที่โดยปกติ อากาศจะเย็นขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสูง แต่อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว จะมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุม ทำให้ระดับใกล้พื้นดินมีอากาศเย็น และคลายความร้อนได้เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้บริเวณเขตเมืองยังมีรูปแบบการเรียงตัวกันของอาคารสูงที่หนาแน่น ลมพัดผ่านไม่สะดวก จึงเกิดเป็นลมนิ่ง อาคารสูงมากมายในเมืองที่รับความร้อนเต็มที่ในตอนกลางวันก็จะคลายความร้อนในตอนกลางคืน ทำให้อากาศรอบอาคารเย็นลง แต่อากาศที่อยู่เหนือตัวเมืองขึ้นไปร้อนกว่า จึงก่อให้เกิดชั้นอากาศอุ่นไปแทรกอยู่ระหว่างกลางอากาศที่เย็นกว่าทั้งด้านล่างใกล้พื้นดินและด้านบนในลำดับชั้นของอุณหภูมิของอากาศ เกิดความผิดปกติกลายเป็น “ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน” ทำให้มลพิษฝุ่นควันที่ออกมาจากกิจกรรมต่างไม่ได้ถูกพัดออกไปไหนไกล กับสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งลมที่พัดมาจึงอวลอยู่ในเมือง(อ้างอิง) และหากนับปัจจัยภายนอกอย่างมลพิษข้ามแดนที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน จึงส่งผลให้ค่าฝุ่นสูงขึ้นจนบางวันก็ติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับโดย IQAir เกือบทุกสัปดาห์ตลอดเดือนมกราคม 2568 (อ้างอิง)

ในปี 2566 โรงงานในอินเดียและจีนต้องหยุดงานเพราะอากาศร้อนจัดเกินไปสำหรับการทำงาน(อ้างอิง) และในไทยเมื่อปี 2567 มีผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกไปกว่า 61 ราย

 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก (Macroeconomic Risks)

การสูญเสียธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ทางทะเล ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเพียงแค่ในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างธุรกิจการท่องเที่ยว การเกษตร หรือสินค้าบริโภคบางรายการ แต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคธุรกิจอื่นๆ ร่วมถึงสุขภาพของพนักงานที่อาจแย่ลงซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพและกำลังผลิตสินค้าได้ถึงในส่วนนี้อาจใช้ Automation หรือ AI เข้ามาทดแทนได้บ้างบางส่วนแต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดไม่ได้เกิดได้แค่เพียงกับพนักงานเท่านั้นแต่เกิดได้กับทุกคน

นอกจากรายงานความเสี่ยงแล้ว World Economic Forum ร่วมกับ SYSTEMIQ ได้มีการจัดทำรายงาน “คู่มือคำแนะนำสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อเริ่มต้นใหม่สู่เศรษฐกิจธรรมชาติรูปแบบใหม่” ซึ่งเป็นคู่มือที่เหมือนแนะแนวทางว่ารัฐจะออกนโยบายหรือข้อกำหนดอะไรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ที่ตอนนี้ทรัพยากรณ์ธรรมชาติของแต่ละประเทศดูไม่ใช้เพียงแค่ทรัพยากรณ์ของประเทศตนเท่านั้น แต่เป็นดั่งทรัพยากรอันมีค่าที่ส่งผลต่อโลกทั้งใบแล้วหากสูญเสียบางส่วนไป