Bibliosmia กลิ่นหนังสือที่หนอนหนังสือติดงอมแงม เชื่อว่าทุกครั้งที่หนอนหนังสือก้าวเท้าเข้าร้านหนังสือไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือชั้นนำ ร้านหนังสือมือสองหรือแม้แต่เดินเข้าห้องสมุดก็จะพบกับกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ลอยเข้าจมูก และบางคนก็อดใจไม่ได้ที่จะสูดหายใจเข้าลึกๆเพื่อดมกลิ่นนั้นให้ชัดๆ และเมื่อเดินเข้าใกล้ชั้นวางหนังสือเท่าไหร่กลิ่นนั้นก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น กลิ่นนี้ถูกนิยามขึ้นว่า Bibliosmia (Bibb-lee-oz-me-ah/บิบลิออสเมีย) โดยดร.โอลิเวอร์ เทียร์ล อาจารย์และนักเขียนชาวอังกฤษ Bibliosmia มาจากการนำภาษากรีกโบราณสองคำสนธิกันคือ Biblio βιβлίον หมายถึง กระดาษ เอกสาร แท็บเล็ต หนังสือเล่มเล็กหรือ ภาษาละติน Biblia หมายถึง พระคัมภีร์ และคำว่า Osmia มาจากภาษากรีกโบราณ ὀσμή หมายถึง กลิ่น กลิ่นหอม กลิ่นอาย ซึ่งรวมกันแล้วสื่อถึง กลิ่นและกลิ่นหอมของหนังสือ อีกทั้ง Bibliosmia ยังรวมถึงการดมกลิ่นหนังสือ และกลุ่มคนที่ชอบดมหนังสือด้วย
ในแง่ของเคมี Bibliosmia นี้เกิดจากเกิดจากการสลายตัวทางเคมีภายในกระดาษ โดยกลิ่นกระดาษใหม่และเก่าจะมีความแตกต่างกันไป ยิ่งกระดาษเก่ามากเท่าไร ก็ยิ่งมีกลิ่นแรงขึ้น เพราะกระดาษมีส่วนประกอบของ เซลลูโลส (Cellulose) และ ลิกนิน (Lignin) ซึ่งทั้งสองสารประกอบนี้มีส่วนทำให้กระดาษกลายเป็นสีเหลือง รวมไปถึงสารประกอบอื่นๆ เข่น Benzaldehyde, Vanillin, Ethylhexanaol, Toluene และ Ethyl benzene ซึ่งสารประกอบต่างๆในหนังสือนั้นเป็นสาเหตุของกลิ่นที่เราได้กลิ่นกัน แต่มีความแตกต่างบางประการระหว่าง Bibliosmia ของหนังสือใหม่และเก่า
เริ่มจากหนังสือเล่มใหม่ มีปัจจัยทั้งหมด 3 ประการที่เราควรนึกถึงเมื่อประเมินกลิ่นของหนังสือเล่มใหม่คือ หมึก กระดาษและกาวสำหรับเข้าเล่ม เมื่อผสมทั้งสามสิ่งนี้เข้าด้วยกัน เราจะไม่เห็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เหมือนกันทุกครั้ง หนังสือที่แตกต่างกันซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกันเนื่องจากชนิด หรือแม้แต่ยี่ห้อของวัตถุดิบทั้งสามอย่างที่นำเข้ามาประกอบรวมกันเป็นหนังสือ เนื่องจากความแตกต่างนี้ กลิ่นของหนังสือเล่มใหม่จึงแตกต่างกันไป ในตอนแรกปัจจัยทั้งสามที่เรากล่าวถึงนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ปกติไม่ได้ปล่อยกลิ่นออกมาชัดมาก แต่เมื่อพวกมันทำปฏิกิริยาระหว่างกัน VOC (Volatile Organic Compounds) สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายก็เผยออกมา สิ่งเหล่านี้ก็เริ่มส่งกลิ่นออกมาเมื่อเวลาผ่านไป
เมื่อคุณดูหนังสือเก่าๆ ของคุณ พวกมันมักเกิดการออกซิเดชั่นของหน้าหนังสือจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและคุณอาจได้กลิ่นหอมเล็ดลอดออกมา เนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลลูโลสและลิกนินในโครงสร้างของกระดาษที่ผ่านช่วงเวลามาแล้วระยะหนึ่ง จากการเสื่อมสภาพนี้ สารประกอบอินทรีย์ใหม่ๆจำนวนมากจึงเกิดขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไป สารประกอบเหล่านี้สามารถกลายเป็นเบนซาลดีไฮด์ วานิลลิน เอทิลเฮกซานอล โทลูอีน และเอทิลเบนซีน ซึ่งส่งกลิ่นหอมออกมา
ในทางจิตวิทยาคือกลิ่นนั้นชวนให้นึกถึงความทรงจำหรือความรู้สึกที่เราเคยมีในอดีต เมื่อเราได้รับกลิ่นใหม่ ระบบการรับกลิ่นของเราจะทำงานร่วมกับความทรงจำในขณะนั้นด้วยเชื่อมประสาทสัมผัสต่างๆเข้าด้วยกัน กลิ่นที่เราได้กลิ่นนั้นได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษโดยกรอบเนื้อหาในสมองของเราเอง ดังนั้นกลิ่นเดียวกันแต่ต่างคนก็ต่างตีความกลิ่นนั้นๆต่างกันออกไป มีการศึกษาในปี 2017 จากกลุ่มตัวอย่างของผู้ใช้งานพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮมจำนวน 79 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างพยายามเดาสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นจากกลิ่นของจากหนังสือโดยเฉพาะหนังสือเก่า ส่วนใหญ่บอกว่ามันมีกลิ่นชวนให้นึกถึงวานิลลา ในการศึกษานี้ กลุ่มที่พยายามคาดเดาวัตถุต่างๆ จากกลิ่นของนั้นๆ พบว่ากลิ่นที่ได้รับจากหนังสือมากที่สุดคือ 'ช็อคโกแลต'และรองจากช็อกโกแลตคือกลิ่นกาแฟ กลิ่นเก่าๆ กลิ่นไม้และกลิ่นเหมือนอะไรไหม้ๆ ตามลำดับ สมองของเราสามารถจดจำกลิ่นนั้นกับเหตุการณ์ ผู้คน หรืออารมณ์ในขณะนั้นได้ดี เช่นเดียวกับที่สมองของเราเชื่อมโยงเสียงเพลงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในความทรงจำของเราอย่างเพลงที่เราฟังทีไรก็นึกถึงแฟนเก่าของเรา หรือนึกถึงช่วงเวลาที่เรายังเป็นเด็กนักเรียนที่ต้องนั่งสมาธิพร้อมกับเพลงเพลงนั้นที่ดังขึ้นมาและเมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใดเมื่อเราได้ยินเพลงนั้นอีกครั้งความทรงจำนั้นก็ย้อนกลับมา กลิ่นของหนังสือถ้าหากสอดคล้องกับความรู้สึกหรือเหตุการณ์ในสมัยเด็กๆเราก็จะเริ่มมองหากลิ่นนี้เพื่อย้อนกลับไปนึกถึงสมัยนั้นได้ การเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นและความทรงจำเป็นส่วนสำคัญของเสน่ห์ของ Bibliosmia กลิ่นของหนังสือช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ ไม่ใช่แค่กลิ่นของกระดาษหรือหมึกที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือเท่านั้นหนังสือมือสองก็อาจจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมันเองเพราะในหนังสือมือสองบางเล่ม อาจมีกลิ่นบุหรี่แรงมาก โดยที่เจ้าของใหม่ไม่เคยสูบบุหรี่ แต่กลิ่นที่ติดอยู่ในหน้าหนังสือนั้นก็เผยให้เห็นว่าครั้งหนึ่งมันเคยมีเจ้าของและถูกเก็บไว้ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มันจึงเป็นเหมือนสิ่งที่บอกถึงอดีตของตัวมันเองว่าหนังสือเล่มนี้ก่อนที่เจ้าของใหม่จะได้มามันผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งบางทีอาจเป็นสองทศวรรษของผู้ครอบครองคนก่อน ก่อนที่มาจะถึงมือของเจ้าของใหม่ อ้างอิง https://techsauce.co/connext/life-hacks/why-do-some-people-like-the-smell-of-books https://interestingliterature.com/2017/07/on-the-science-of-bibliosmia-that-enticing-book-smell/ https://newstextarea.com/why-do-some-people-like-the-smell-of-books-more/ |