10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง - ดาวร่วง ปี 2568

หอการค้าฯ และสถาบันการเงิน คาดในช่วงปี 2568-2570 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งสำคัญ ท่ามกลางกระแสเมกะเทรนด์ระดับโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และประชากรฯ ธุรกิจบางกลุ่มมีโอกาสโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่บางอุตสาหกรรมอาจต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่สูงขึ้น การทะลักเข้ามาของสินค้า-ทุนจีน มาตรการกีดกันทางการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง...

การจัดอันดับกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงในครั้งนี้พิจารณาจาก การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 (เมื่อพ.ย.2567) ว่าจะเติบโตได้ราว 3% หลังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว นโยบายภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยว และการดึงการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก โดยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจบั่นทอนต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของไทยในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลก ทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ทิศทางความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น และรุนแรงขึ้น

10 ธุรกิจดาวรุ่ง

อันดับที่ 1

  • ธุรกิจการแพทย์และความงาม

มีปัจจัยสนับสนุนจาก นโยบายฟรีวีซ่าของภาครัฐฯ การขยายตัวของตลาด Medical Tourism ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการด้านสุขภาพในไทย และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ

  • ธุรกิจ Cloud Service และธุรกิจบริการ Cyber Security

มีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทั่วโลก เมกะเทรนด์ของธุรกิจในอนาคต มีการใช้เทคโนโลยี AI และ IoT มากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนสู่ระบบ Smart Solutions มากขึ้น รวมถึงมีการใช้บริการ Cyber Security มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงอาชญากรรมทางไซเบอร์ 

อันดับที่ 2

  • Social Media และ Online Entertainment

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งการซื้อสินค้า การให้ความบันเทิงและการศึกษาหาข้อมูลต่างๆ ผลักดันให้เกิดธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น

  • ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ YouTuber การรีวิวสินค้า และ Influencer

มีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมดิจิทัลของคนในปัจจุบันที่มีการรับรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และเทรนด์การทำคอนเทนต์ ส่งผลให้เกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) หรือ นักสร้างคอนเทนต์ที่ผลิตเนื้อหาและช่วยธุรกิจในการนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงโน้มน้าวใจผู้บริโภค

อันดับที่ 3

  • ธุรกิจ E-commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)

มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้อสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า สามารถเปรียบเทียบราคา และบริการของแต่ละร้านค้าได้ ตามความต้องการของลูกค้า

  • ธุรกิจ Soft Power ไทย โดยเฉพาะสื่อบันเทิง

มีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม และประเพณีไทย ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power ผ่านการนำเสนออาหาร ดนตรี แฟชั่น ซีรีย์ และภาพยนต์ รวมถึงกระแสความนิยมของวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เช่น อาหารไทย ดนตรีไทย และภาพยนตร์ไทย ส่งผลให้ซีรีย์ไทยได้รับความสนใจจากแฟนๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนที่ขึ้นอย่างมาก

  • ธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์

มีปัจจัยสนับสนุนจากแพลตฟอร์มออนไลน์ในปัจจุบันมีความหลากหลายช่องทาง (เช่น Facebook , YouTube และ TikTok เป็นต้น) ช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตสื่อออนไลน์ต่ำ และจะขึ้นมาเป็นสื่อหลักที่ใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

อันดับที่ 4

  • งานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจ Event

มีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ เปิดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าและเทศกาลต่างๆ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการจัดกิจกรรมอีเว้นท์และเฟสติวัลหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติ 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และสถานบันเทิง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ หนุนให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ และแคลอรี่ต่ำสำหรับผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสุขภาพ

อันดับที่ 5

  • ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย)

มีปัจจัยสนับสนุนจากเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกผลักดันเป็น Soft Power ที่ใช้ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรม รวมถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) หรือผู้มีชื่อเสียง สร้างความน่าเชื่อถือสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจสายมูยังมีโอกาสเติบโตได้ นอกจากนี้ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่หลายคนมองว่าย่ำแย่ สภาพการเมืองในประเทศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และด้วยปัญหาอีกหลายๆ อย่างทำให้ผู้คนเกิดความท้อแท้และเริ่มหมดกำลังใจ ธุรกิจนี้ที่มีจุดขายหลักคือการเสริมสร้างกำลังใจจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

  • ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ

มีปัจจัยสนับสนุนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่ารายได้ที่มี ส่งผลให้ประชาชนต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ หรือโรงรับจำนำมากขึ้น ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจเงินด่วนที่มีความสะดวกในการเข้าถึงมากกว่า แม้จะมีดอกเบี้ยที่สูงกว่า

  • ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต

มีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ใส่ใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นในการซื้อประกันเพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพมากขึ้น มีความรู้ และวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้มีเงินใช้เมื่อถึงวัยเกษียณกันมากขึ้น

อันดับที่ 6

  • ธุรกิจการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ (เช่น แม่บ้านรายวัน การซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น)

มีปัจจัยสนับสนุนจาก พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของสังคมในตัวเมืองที่ใช้เวลาเร่งรีบ และต้องการบริการที่ช่วยประหยัดเวลา ซึ่งตรงกับความต้องของการคนในสังคมเมืองที่ไม่ต้องเสียเวลาในการทำความสะอาดบ้าน และการซ่อมแซมอุปกรณ์เอง

  • ผับ บาร์ คาราโอเกะ

มีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐผ่อนปรนกฎหมาย และกฎระเบียบในการอนุญาตให้สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมทั่วประเทศ และสถานบริการในพื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย สามารถเปิดบริการได้ถึง 04:00 น. รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิง

อันดับที่ 7

  • คลินิกกายภาพ

มีปัจจัยสนับสนุนจาก พฤติกรรมการทำงานของคนวัยทำงานในปัจจุบันมักเผชิญกับความเสี่ยงทางสุขภาพจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน และผลจากความเครียดการทำงาน โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรม จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าคลินิกกายภาพในการช่วยฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงการเติบโตของกลุ่มผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้มีความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

  • ธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (ธุรกิจ EV Charging Station) และติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า

มีปัจจัยสนับสนุนจาก นโยบายรัฐฯ ที่ให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ธุรกิจลงทุนการผลิต EV ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง (น้ำมัน) มีระดับสูง และผันผวน ผู้บริโภคจึงหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

  • ธุรกิจรถยนต์ EV

มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้บริโภคมีแนวโน้มการยอมรับในเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น รวมถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชาร์จมีมากขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค

  • ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ขายอาหาร อุปกรณ์ แฟชั่น และดูแลสัตว์เลี้ยง

มีปัจจัยสนับสนุนจากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ คู่รักที่ไม่อยากมีลูก และกลุ่มคนโสด ที่เจ้าของยินดีที่จะทุ่มเททั้งเงิน และเวลาเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อันดับที่ 8

  • ธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร Fintech และการชำระเงินฝากผ่านระบบดิจิตอล

มีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของภาครัฐฯ และการปรับตัวของธนาคารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการความสะดวกสบายในการใช้จ่ายผ่านการโอนเงินจากแอพธนาคาร ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการหันมาชำระเงินผ่านการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่ที่ซื้อสินค้า บริการออนไลน์ และการหันมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เพิ่มขึ้น (เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) โทเคนดิจิทัล (Digital Token) และอื่นๆ)

  • ธุรกิจตู้หยอดเหรียญเครื่องดื่ม อาหาร และธุรกิจเครื่องสะดวกซัก

มีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านความสะดวกสบาย เหมาะกับคนเมืองยุคใหม่ที่มักอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่จำกัด ขนาดไม่ใหญ่ เช่น คอนโด อพาร์ทเม้นท์ แฟลต และหอพัก ซึ่งมองว่าไม่คุ้มค่ากับการซื้อเครื่องซักผ้ามาใช้เอง

  • ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

มีปัจจัยสนับสนุนจาก แคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (เช่น สวนน้ำ ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร) รวมถึงส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย และมาตรการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว รวมถึงยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น (เช่น แอปพลิเคชันจองที่พัก การเดินทาง และตั๋วเครื่องบิน)

อันดับที่ 9

  • ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร (เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือสัญญาณสื่อสารต่างๆ)

มีปัจจัยสนับสนุนจาก การเติบโตของบริการดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการใช้บริการอินเตอร์เน็ตขยายตัว รวมถึงการที่ธุรกิจส่วนมากใช้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อสาร และค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งบริการ Cloud Service เทคโนโลยี AI และระบบ Automation มีความนิยมมากขึ้น ในหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจ (เช่น ภาคการผลิต การแพทย์ การค้า การรักษาความปลอดภัย ฯลฯ)

  • ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า

มีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาเส้นทางการขนส่ง เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้า รวมทั้งการเปิดพรหมแดนการค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้มีการขนส่งที่กระจายพื้นที่มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการซื้อผ่านออนไลน์ของผู้บริโภคสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

  • ทนายความ และตรวจสอบบัญชี

มีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเต็มไปด้วยข้อกฎหมายที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเลือกใช้บริการจากสำนักงานกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าปัญหากฎหมายจะได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม

  • ธุรกิจ Street Food และตลาดนัดกลางคืน

มีปัจจัยสนับสนุนจากกระแส Soft Power ในด้านอาหาร รวมทั้งได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐฯ รวมถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งตลาดเพื่อการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในหลายๆ จังหวัด

อันดับที่ 10

  • ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์)

มีปัจจัยสนับสนุนจากความสะดวกจากบริหารแอปพลิเคชันสั่งอาหาร (เช่น Grab, Lineman, Foodpanda ฯลฯ) ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสำหรับช่องทางการสั่งอาหารมากขึ้น รวมถึง เทรนด์อาหาร และเครื่องดื่มใหม่ๆ เช่น อาหาร Plant-based, เครื่องดื่ม Functional Drink หรืออาหารที่เน้นรสชาติเฉพาะตัว

  • ธุรกิจพลังงานทดแทน (เช่น โซลาร์เซลล์)

มีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์ความผันผวนด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และก๊าซแอลเอ็นจี ที่ต้องใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในไทย ทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนด้านพลังงานจากภาครัฐฯ ในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือกมากขึ้น

  • โรงพยาบาล คลินิก สัตว์เลี้ยง

มีปัจจัยสนับสนุนจาก เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น เจ้าของยินดีที่จะทุ่มเททั้งเวลา และเงิน เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการเติบโตของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ที่ช่วยยกระดับคุณภาพของสัตว์เลี้ยงให้ดีขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของโรงพยาบาล คลีนิค สัตว์เลี้ยง

  1. ธุรกิจจำหน่าย และให้เช่า CD หรือ VDO

เนื่องจากการเติบโตของ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (Netflix, Disney+, YouTube ฯลฯ) ทำให้ความต้องการ CD และ VDO ลดลง อุปกรณ์ที่รองรับ CD/DVD อย่างเครื่องเล่น คอมพิวเตอร์ และเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ ใช้ไดรฟ์ CD/DVD น้อยลง และค่าใช้จ่ายในการผลิตแผ่นดิสก์สูงกว่า ต้นทุนของการให้บริการแบบดิจิทัล

  1. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์

เนื่องจากคนหันไปเสพข่าวสารผ่าน เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย มากขึ้น รายได้จากโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างมาก เนื่องจากแบรนด์ต่างๆ ทุ่มงบโฆษณาไปที่แพลตฟอร์มดิจิทัล ต้นทุนกระดาษสูงขึ้น และมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ใช้ e-Book และ e-Magazine แทน

  1. ธุรกิจผู้ผลิต และจำหน่ายที่เก็บข้อมูล (CD, DVD, Thumb Drive, การ์ดอื่นๆ)

เนื่องจากการใช้งาน Cloud Storage (Google Drive, Dropbox, OneDrive) แทนที่อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบพกพา สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ Thumb Drive หรือ DVD ราคาของ SSD และ External Hard Drive ที่มีความจุสูงกว่า เร็วกว่า  และเกิดความเสียหายกับข้อมูลน้อยกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในแง่ของการใช้งาน พกพา และการเก็บรักษาข้อมูล

  1. บริการส่งหนังสือพิมพ์

เนื่องจากหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์ ถูกแทนที่ด้วยข่าวออนไลน์ และแอปพลิเคชันข่าว ผู้บริโภคมีแนวโน้มสมัครสมาชิก ข่าวออนไลน์ หรือพอดแคสต์ แทนการรับหนังสือพิมพ์ที่บ้าน อีกทั้งต้นทุนการพิมพ์ และค่าขนส่งสูงขึ้น ขณะที่ยอดขายลดลง

  1. ธุรกิจผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

เนื่องจากการแข่งขันจากโรงงานในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ย้ายการผลิตไปในพื้นที่ที่แรงงานมีค่าแรงต่ำกว่า อีกทั้งเทรนด์ Fast Fashion และ Sustainable Fashion ทำให้ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวอาจถูกมองข้ามเพียงเพราะไม่ได้มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม มากกว่าเรื่องของการดีไซน์ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการ ESG ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคไม่ได้สนใจเพียงแค่ใส่สบาย และดีไซน์สวยงาม แต่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

  1. ธุรกิจถ่ายเอกสาร

เนื่องจากคนใช้ไฟล์ดิจิทัล (PDF, Google Docs, E-signature) แทนการพิมพ์เอกสาร องค์กรต่างๆ ปรับตัวไปสู่ สำนักงานไร้กระดาษ (Paperless Office) เครื่องพิมพ์ราคาถูกลง และเข้าถึงง่ายขึ้น ทำให้คนสามารถพิมพ์งานที่บ้านหรือที่ทำงานได้เอง

  1. ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบดั้งเดิม (ไม่มีการออกแบบดีไซน์)

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นิยมเฟอร์นิเจอร์แบบโมเดิร์น มินิมอล และการใช้งานที่อเนกประสงค์มากขึ้น เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบเดิมมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และบางดีไซน์ก็มีขนาดใหญ่ทำให้การเคลื่อนย้ายไม่สะดวก การนำวัสดุทดแทนมาใช้ เช่น ไม้สังเคราะห์ พลาสติกรีไซเคิล ได้รับความนิยมกว่าเพราะราคาถูกกว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และน้ำหนักเบากว่า

  1. ธุรกิจรถยนต์มือสอง

เนื่องจากรถ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) กำลังแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมัน ทำให้ราคารถมือสองแบบดั้งเดิมตกลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้รถ EV มือสองยิ่งไม่ได้รับความนิยมเพราะการเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ง่ายกว่า

  1. ร้านขายเครื่องเล่นเกม และแผ่นเกม

ด้วยเทคโนโลยี Cloud Gaming (Xbox Game Pass, GeForce Now, PlayStation Plus ฯลฯ) ทำให้คนเข้าถึงการซื้อเกมได้ง่ายขึ้น จากการเข้ามาของเกมมือถือที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า และคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพส่งเสริมประสบการณ์การเล่นเกมได้มากกว่า และหลากหลายกว่า ความจำเป็นที่ต้องซื้อเครื่องเล่นเกมเพื่อที่จะได้เล่นเกมจึงลดลง อีกทั้งการขายตัวเกมของผู้ผลิตเครื่องเกมเองก็ให้บริการซื้อเกมแบบดิจิทัลได้ด้วย

  1. ธุรกิจผลิตกระดาษ และ ธุรกิจร้านโชห่วย

ธุรกิจผลิตกระดาษ

เนื่องจากนโยบายลดการใช้กระดาษ (Go Green, ESG ฯลฯ) และดิจิตอลทรานฟอร์มเมชั่น (การโอนย้ายข้อมูลจากกระดาษสู่ข้อมูลแบบดิจิตอล) ทำให้ต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่ลดลง องค์กรต่างๆ ใช้ไฟล์ดิจิทัลแทนกระดาษ (เช่น e-Document และ e-Tax Invoice) รวมถึงต้นทุนการผลิตกระดาษสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และพลังงาน

ร้านโชห่วย

เนื่องจากการแข่งขันจากร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven, Lotus’s, Makro ฯลฯ) ที่มีระบบบริหารจัดการที่ดีกว่า มีพื้นที่เก็บสต๊อกสินค้าได้มากกว่า มีอำนาจในการต่อรองราคาได้มากกว่า (จากการซื้อครั้งละมากๆ) และบางเจ้ามีบริการจัดส่งถึงที่ด้วย ซึ่งตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ดีกว่า เพราะผู้บริโภคมองหาสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวกกว่า ได้สินค้าที่ถูกกว่า และไม่ต้องออกจากบ้าน ร้านโชห่วยจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก