ประวัติกระดาษ จากปาปิรัสสู่เปเปอร์

กระดาษ เป็นสิ่งจำเป็นที่มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์นับแต่อดีตกาล เป็นเครื่องมือช่วยจารึกเรื่องราวต่าง ๆ  ใช้เขียนอักษรโต้ตอบเพื่อการสื่อสาร  เผยแพร่คำสอนศาสนา  บันทึกความเป็นอยู่ ประเพณี  หรือแม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์เป็นมรดกให้ลูกหลานได้รู้จักและภาคภูมิต่อ ชาติพันธุ์ของตน  ก่อนยุคสมัยการใช้กระดาษ  มนุษย์พยายามทดลองค้นหาวัสดุที่มีผิวเรียบชนิดต่าง ๆ  มาใช้  เช่น  นำดินเหนียวมาปั้นเป็นแผ่น  ใช้กระดูกสัตว์  งาช้าง  กระดองเต่า  หิน  โลหะ  ซี่ไม้ไผ่  เปลือกไม้  ใบไม้และผ้าไหมเป็นต้น

กระดาษสมัยอียิปต์โบราณ

จุดเริ่มต้นของกระดาษนั้นนักวิชาการเชื่อกันว่าเริ่มมีการใช้ครั้งแรกๆในช่วงสมัยของอาณาจักรอียิปต์โบราณ กระดาษในยุคนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจากต้นปาปิรัส (Papyrus) กรรมวิธีในการประดิษฐ์กระดาษปาปิรัส คือ นำลำต้นมาตัดให้ได้ตามความยาวของกระดาษที่ต้องการ ลอกเปลือกออก สานขัดกันแล้วนำไปแช่ในน้ำให้นิ่ม หลังจากนั้นทุบส่วนที่ประสานกันให้แบนเป็นเนื้อเดียว และตากให้แห้ง แล้วใช้หินขัดให้เรียบอีกที แต่ด้วยข้อจัดกัดของพื้นที่เจริญเติบโตของต้นปาปิรัส ที่ขึ้นเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ ทำให้กระดาษชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก รวมถึงนักวิจัยรุ่นหลังไม่ได้ยอมรับว่ากระดาษปาปิรัสเป็นกระดาษ เนื่องจากเนื้อกระดาษไม่ละเอียดเรียบเป็นแผ่นเท่าที่ควร เพียงเป็นการนำต้นกกมาทับซ้อนกันเท่านั้น

กระดาษสมัยกรีกโรมัน

มีการนำเข้ากระดาษปาปิรัสจากอียิปต์ในสมัยกรีกโรมัน แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง ชาวกรีกโรมันจึงคิดวิธีการจดบันทึกลงบนหนังสัตว์แทน เรียกว่า กระดาษหนังหรือ Parchment มักจะทำจากหนังลูกวัว หนังแพะ หรือหนังแกะ แม้จะมีราคาสูง แต่ก็มีความทนทานกว่ากระดาษปาปิรัส (Papyrus) ทำให้ชาวกรีกและโรมันหันมาใช้กระดาษหนัง (Parchment) ในการเขียนแทนกระดาษปาปิรัสของอียิปต์ โดยการนำเอาหนังสัตว์มาทำความสะอาด หลังจากนั้นก็นำไปขึงไว้กับกรอบไม้สี่เหลี่ยมให้ตึง และทำการขูดขนสัตว์ออกให้หมด หลังจากนั้นก็ทิ้งไว้เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นอาทิตย์ แผ่นหนังสัตว์จะตึงไม่ย่น แล้วค่อยใช้มีดตัดออกจากกรอบไม้ให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ก็จะได้แผ่นหนังที่ตึงเหมาะกับใช้ในการเขียน

กระดาษหนังหรือ Parchment นิยมใช้มาจนถึงยุโรปยุคกลาง โดยชาวยุโรปได้พัฒนากระดาษหนังอีกชนิดหนึ่งเรียกว่ากระดาษหนังแกะหรือ Vellum กระดาษหนัง Parchment และกระดาษหนังแกะ Vellum นั้น นิยมใช้กันมาจนถึงยุโรปยุคกลาง ก่อนหน้าที่กระดาษ (Paper) ของจีนจะแพร่หลายเข้าไปถึงยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 12-13 โดยกระดาษหนัง Parchment และกระดาษหนังแกะ Vellum นั้นมีใช้กันในยุโรปไปจนถึงศตวรรษที่ 16 เลยทีเดียว โดยชาวกรีก โรมัน และชาวยุโรปในยุคกลางจนถึงช่วงต้นยุคใหม่ใช้กระดาษหนัง (Parchment) ในการเขียนและการทำหนังสือเป็นรูปเล่ม

กระดาษ ที่เป็นต้นแบบจนถึงปัจจุบัน

กระดาษที่เป็นต้นกำเนิดของรูปแบบกระดาษที่เราใช้กันในปัจจุบันนั้น ถูกบันทึกว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อค.ศ.105 โดยข้าราชการขันทีชาวจีนชื่อว่า ไช่หลุน(Càilún) เสนอกรรมวิธีการเติมเยื่อผ่านเปลือกไม้และ ปลาย ป่านเข้าเป็นส่วนผมสมในการทำกระดาษ ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลิตได้เป็นจำนวนมาก และเข้ามาแทนที่การจดบันทึกบนแผ่นไม้ไผ่ในที่สุด แม้ว่าตามธรรมเนียมจะถือว่าเป็นผู้ประดิษฐ์กระดาษ แต่ก่อนหน้านี้กระดาษชนิดนี้นั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราชแล้ว เค้าจึงเป็นเพียงผู้ที่เสนอกรรมวิธีการทำกระดาษอย่างเป็นทางการต่อจักรพรรดิเหอเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้คิดค้น ซึ่งวิธีการผลิตกระดาษในยุคนั้นคือการนำเศษผ้าเก่า เปลือกไม้ มาต้มให้เนื้อยุ่ยละเอียด และในไปกรองด้วยตะแกรง เกลี่ยให้เรียบ และตากแห้งจนสามารถนำมาใช้งานได้ หลังจากความลับเรื่องการประดิษฐ์กระดาษถูกเก็บเงียบในแผ่นดินจีนยาวนานกว่า 500 ปี ก็ได้มีการเผยแพร่ไปยังเกาหลี และญี่ปุ่น หลังจากนั้นกระดาษได้ถูกเผยแพร่ไปยังเอเชียกลาง ดินแดนอาหรับ และไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหม

อุตสาหกรรมกระดาษในอารับ, สงครามทัลลัส, Tallas, อาณาจักรอับบาซียะฮ์

อุตสาหกรรมกระดาษ

เมื่อกระดาษได้ถูกเผยแพร่ออกไปจากจีนผ่านเส้นทางสายไหมจนเข้ามายังดินแดนอาหรับ แต่วิธีทำกระดาษกระดาษถูกนำจากประเทศจีนสู่โลกมุสลิมผ่านสงครามทัลลัส (Tallas) ในปี ค.ศ. 751 ที่อาณาจักรอับบาซียะฮ์ร่วมมือกับจักรวรรดิทิเบตเข้าต่อกรกับราชวงศ์ถังของจีนสมัยถังเฉวียนจงฮ่องเต้ เชลยศึกชาวจีนที่มีความรู้ในการทำกระดาษได้เปิดเผยวิธีการทำกระดาษแก่ชาวมุสลิมก่อนได้รับการปล่อยตัวไป จากนั้นมุสลิมได้ทำการพัฒนาและปรับปรุงการทำกระดาษอย่างประณีตไปเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมกระดาษแทน ทำให้มีการพัฒนาการศึกษาในโลกมุสลิมอย่างกว้างขวาง มุสลิมในสมัยกลางจึงเจริญก้าวหน้าด้านศิลปะวิทยาการที่สุดในโลก ชาวมุสลิมปรับปรุงวิธีการทำกระดาษใช้ผ้าลินินแทนแทนเยื้อไม้อย่างที่ชาวจีนทำ เศษผ้าลินินไม่เน่าเปื่อย แต่จะเปียกโชกอยู่ในน้ำ และหมักอยู่ในนั้น เศษผ้าที่ต้มแล้วจะปราศจากกากที่เป็นด่างและสิ่งสกปรกอื่น ๆ จากนั้นเศษผ้าจะถูกนำมาตอกด้วยค้อนให้เป็นเยื่อ ทำให้กระดาษของชาวมุสลิมมีความเหนียวกว่า และมีการพัฒนาให้กระดาษมีความขาวขึ้น ใช้งานได้ง่ายขึ้น จนเป็นที่นิยมและแพร่หลายเข้าไปยังยุโรป และมีการตั้งโรงงานผลิตหลากหลายแห่ง ทั้งในอิรัก ซีเรีย ปาเลสไตน์ และแอฟริกา จนถึงสเปนโดยกลุ่มชาวมุสลิม และขยายไปยังอิตาลีในกลุ่มชาวคริสเตียน จากนั้นยังกระจายไปสู่อีกหลาย ๆ ส่วนของโลก กระดาษที่ส่งออกไปยุโรปโดยมากทำในเมืองดามัสกัส (ซีเรีย) เมื่อขยายการผลิตเพิ่มขึ้น กระดาษจึงมีราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้นและมีจำหน่ายแพร่หลาย

ประวัติกระดาษ, กระดาษ, ปาปิรุส, ปาปิรัส, Papyrus, กระดาษ+อียิปต์โบราณ, กระดาษหนัง, Parchment, กระดาษหนังสัตว์, กระดาษ+ยุคกลาง, กระดาษหนังแกะ, Vellum, ไช่หลุน, Càilún, กระดาษไช่หลุน, อุตสาหกรรมกระดาษในอารับ, สงครามทัลลัส, Tallas, อาณาจักรอับบาซียะฮ์, เอ็ม ดิโดต์, เครื่องจักรผลิตกระดาษอัตโนมัติเครื่องแรก, พี่น้องตระกูลโฟร์ดริเนียร์, Fourdrinier, คำว่ากระดาษมาจากไหน, คำว่า Paper มาจากไหน, Paper, Papyrus, Cartas

เครื่องจักรผลิตกระดาษยุคแรก

เมื่อกระดาษถูกเผยแพร่เข้าไปยังอิตาลี ได้มีการพัฒนากรรมวิธีในการผลิตกระดาษให้ดีกว่าของชาวอาหรับ โดยมุ่งเน้นไปที่เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอยู่ในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ.1798 เอ็ม ดิโดต์ ชาวฝรั่งเศสได้คิดประดิษฐ์เครื่องจักรผลิตกระดาษอัตโนมัติเป็นเครื่องแรก หลังจากนั้นในปีค.ศ.1807 พี่น้องตระกูลโฟร์ดริเนียร์ (Fourdrinier) ได้นำแนวคิดของ นิโคลัส หลุยส์ โรเบิร์ต (Nicholas Loius Robert) ผู้ซึ่งเคยทำงานในโรงงานกระดาษของเอ็ม ดิโดต์ มาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นเครื่องจักรผลิตกระดาษที่สามารถม้วนได้สำเร็จ และต่อมาก็ได้ตั้งชื่อเครื่องจักรนี้ว่า โฟร์ดริเนียร์ เป็นต้นแบบของเครื่องจักรผลิตกระดาษในปัจจุบันนั่นเอง

คำว่ากระดาษ และ Paper มาจากไหน

เริ่มที่คำว่า Paper ซึ่งคำนี้มีที่มาจากคำว่า Papyrus ซึ่งเป็นชื่อของต้นปาปิรัสที่นำมาใช้ในการผลิตกระดาษในสมัยอียิปต์โบราณ

ส่วนคำว่า กระดาษ ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาโปรตุกีสคำว่า Cartas ซึ่งคาดว่าเป็นชาติแรกที่นำกระดาษเข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา คนไทยจึงเพี้ยนคำว่า Cartas เป็นคำว่ากระดาษตั้งแต่นั้นมา

 

อ้างอิง

https://www.ofm.co.th/blog/paper-history/

https://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/view/12437-ตำนานกระดาษ